การรวมเล่มนวนิยายเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ ดร.ธรณ์ เคยเขียนไว้ในนิตยสารเปรียว ตั้งแต่ปี 2547 กลายมาเป็นหนังสือ "เมกาโลดอน" MEGALODON ที่นำมาเปิดตัวในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 16 ในระหว่างวันที่ 5-16 ต.ค.2554 ที่บูธสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์
นี่คือ บทความที่เผยแพร่ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ.2005
MEGALODON : เมื่อนิยายกลับกลายเป็นจริง ดร. ธรณ์
เมื่อประมาณหนึ่งปีเศษ ผมมีความคิดแหวกแนว หลังจากเขียนบทความและสารคดีมานาน เกิดอาการเบื่ออย่างบอกไม่ถูก ผมอยากจะมีผลงานแนวใหม่บ้าง โดยเฉพาะการเขียนนิยาย เพราะผมชอบอ่านหนังสือแนวนี้มาตั้งแต่เด็ก เมื่อคิดได้เช่นนั้น ผมจึงตระเวนถามนิตยสารต่าง ๆ คุณคร้าบสนใจนิยายสไตล์ใหม่จากนักเขียนที่เกิดมาไม่เคยเขียนนิยายบ้างไหมครับ ผลลัพท์ที่ได้ดุจหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง ไม่สนค่ะ อาจารย์เขียนเรื่องท่องเที่ยวให้เราดีกว่า แต่โชคชะตาลอยเวียนวนอยู่ในอากาศ หากเราไม่เลิกพยายาม สักวันย่อมเจอะเจอโชคชะตา ต้นปี 2547 ผมพบนายโชคชะตา เมื่อทีมงานจากนิตยสาร “เปรียว” บอกว่าสนใจค่ะ
การเขียนนิยายแบ่งเป็น 2 ส่วน อย่างแรกคือ “เขียนเรื่องอะไร” คำถามข้อนี้ตอบง่าย ผมฝันใฝ่มานานอยากเขียนถึงสัตว์ประหลาด เพราะชอบจริงจังภาพยนต์หรือหนังสือเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตพิลึกกึกกือ เคยแอบแต่งเรื่องให้ตัวเองฟังในห้องน้ำเป็นประจำ จนแน่ใจว่านิยายเรื่องแรกของข้าพเจ้าต้องเป็นการผจญภัยของหนุ่มสาวกับตัวประหลาดเพียงเท่านั้น
มาถึงส่วนสำคัญ “เขียนอย่างไร” บางคนให้ความสำคัญกับตัวละคร ก่อนปล่อยให้พระเอกนางเอกและตัวประกอบนำเนื้อหาให้ดำเนินไป เช่น ครูมาลัย ชูพินิจ แต่ผมไม่ถนัดเรื่องทำนองนั้น เนื่องจากตัวเองเป็นคนความรู้สึกด้าน ไม่มีอารมณ์ศิลป์ เรายังเป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่นักอักษรศาสตร์ ขืนใช้ภาษาเป็นตัวนำมีหวังนำไปเจ๊ง สิ่งเดียวที่ผมถนัดคือหลักการและเหตุผล
การเริ่มต้นของผมคือหาสัตว์ประหลาดสักตัวที่มีอยู่ในโลกความเป็นจริง ไม่ใช่เอาหมีขาวกับแมวเหมียวมาตัดต่อ DNA ได้หมีเหมียว เนื่องจากเราเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล สัตว์ของผมจึงควรอยู่ในทะเล เนื้อเรื่องจะได้วนเวียนในโลกที่เราถนัด ด้วยเหตุประการนี้ ผลที่ได้มีหนึ่งเดียวคือ Megalodon (Mega – ใหญ่ยักษ์ Odon – เขี้ยว)
Carcharodon megalodon คือฉลามใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมาบนโลก เชื่อว่าอาศัยอยู่ในยุค Miocene และ Pliocene (16 – 1.6 ล้านปีก่อน) หนังสือบางเล่มให้ข้อมูลว่า ฉลามชนิดนี้อยู่เรื่อยมาจนถึงเมื่อ 12,000 ปีก่อน ญาติสนิทของ Megalodon ที่หลงเหลือในปัจจุบันคือ “ฉลามขาว” (Great White Shark : อาศัยในน้ำเย็น ไม่พบในประเทศไทย)
ขนาดของฉลามยักษ์ยังไม่เป็นที่แน่ชัด เมื่อค.ศ.1909 American Museum of Nature History จัดทำปากจำลอง ก่อนคาดว่าฉลามอาจมีความยาวถึง 45 เมตร นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่บอกในภายหลังว่า น่าจะเป็นขนาดที่ใหญ่เกินไป แต่ยังไม่มีใครสามารถระบุได้แน่ชัด ปัจจุบัน เราเชื่อว่า Megalodon ยาว 20 - 25 เมตร น้ำหนัก 20 – 45 ตัน ปากอ้าได้กว้างประมาณ 3 เมตร
ฉลามชนิดนี้กินวาฬและสัตว์ใหญ่เป็นอาหาร อาศัยอยู่ทั่วโลก โดยมีการค้นพบซากฟอสซิลทั้งในยุโรป แอฟริกา อเมริกา ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อินโดนีเซีย) นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า Megalodon สูญพันธุ์เพราะภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลง วาฬย้ายถิ่นหาอาหาร จากทะเลเขตร้อนเข้าสู่เขตหนาวใกล้ขั้วโลก ทำให้ฉลามยักษ์ไม่มีอาหารกิน หลายคนไม่ยอมรับข้อสัณนิษฐานดังกล่าว เพราะยังมีวาฬหลายชนิดที่อาศัยอยู่ในเขตร้อน เช่น วาฬบรูด้า หรือแม้แต่ญาติของ Megalodon ปลาใหญ่สุดในโลกยุคปัจจุบัน - ฉลามวาฬ – บางคนเชื่อว่าโคตรเขี้ยวยังคงมีชีวิตอยู่ ณ ที่หนึ่งในโลกสีคราม เพียงแต่เรายังไม่ค้นพบพวกเขา เหมือนกับที่เราคิดว่าปลาซีลาคานธ์สูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อ 50 ล้านปีก่อน หรือฉลามกอปลินสูญพันธุ์เมื่อ 100 ล้านปีก่อน แต่ท้ายสุด...สัตว์เหล่านั้นยังดำรงอยู่ จนกลายเป็นที่มาของคำว่า Living Fossil
ตัวประหลาดมีแล้ว ถึงเวลาสร้างฉาก ผมนิยมใช้ฉากของจริง จึงเลือกหมู่เกาะสุรินทร์ทะเลสุดรักเป็นฉากหลักของเรื่อง เสริมด้วยพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทะเลอันดามัน แต่ก่อนฉลามโผล่ ต้องมีการโหมโรง จู่ ๆ จะให้ฉลามกินยาบ้าแล้วว่ายน้ำคลุ้มคลั่งจากทะเลลึกเข้ามาชายฝั่งเพื่อไล่งับมนุษย์ อูย...ทนไม่ได้ ผมจึงเลือกปรากฏการณ์ธรรมชาติฉับพลันขั้นพลิกฟ้าสะเทือนทะเล เหตุการณ์ที่ว่ามีเพียง 2 อย่าง หนึ่งคือไต้ฝุ่น เมืองไทยเคยมีตั้ง 2 ครั้ง ผู้คนชินชา ผมจึงเลือกอีกหนึ่งคือ “สึนามิ”
ผมค้นข้อมูลอ้างอิง จนแน่ใจว่าสึนามิมีโอกาสเกิดในเมืองไทย เพราะร่องลึกชวาหรือ Java Trench อยู่ห่างจากบ้านเราไปนิดเดียว ตรงนั้นเป็นรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกยูเรเชี่ยนของเรา กับแผ่นเปลือกโลกอินเดียและออสเตรเลี่ยน เป็นจุดเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง เมื่อปี 2541 ก็เคยเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์พุ่งเข้าใส่เกาะนิวกินี ยิ่งเปิดดูแผนที่ยิ่งเห็นความเป็นไปได้
Megalodon จึงเริ่มต้นที่การเคลื่อนของแผ่นเปลือกโลก แผ่นดินไหวใต้ทะเล ก่อนส่งผลทำให้เกิดสึนามิพุ่งเข้าฝั่งทะเลอันดามัน ผมลองวัดทิศทางกับความเร็วของคลื่น ดูลักษณะชายฝั่ง ก่อนระบุจุดที่ได้รับความเสียหาย โดยเน้นเฉพาะอันดามันเหนือ ปล่อยให้อันดามันใต้หรือกระบี่ ตรัง และสตูล หลุดพ้นจากภัยพิบัติครั้งนี้
คลื่นยักษ์เป็นเรื่องในจินตนาการ แต่ยิ่งเขียนยิ่งสนุก ผมเลยติดลมเขียนเกี่ยวกับสึนามิหลายตอน ตั้งแต่น้ำลดครั้งใหญ่ คลื่นพุ่งเข้าใส่ชายฝั่งอันดามัน ใครต่อใครหนีคลื่นยังไง สุดท้ายมีเพียงไม่กี่คนรอด พระเอกนางเอกเป็นนิสิตวิทยาศาสตร์ทางทะเล ติดอยู่บนเกาะสุรินทร์ ขณะที่ฉลามยักษ์เกิดความงุนงงหลงเข้าเขตชายฝั่ง ช่วงแรกก็มีซากให้กิน แต่ตอนหลังซากเน่าหมด ฉลามยักษ์หาทางกลับบ้านไม่ได้ เขากำลังหิว...
ฉลามกับมนุษย์สองสามคนสู้กันจะไปสนุกอะไร ผมต่อเรื่องให้คู่พระคู่นางอีกหนึ่งคู่เป็นข้าราชการกับอาจารย์ ก่อนดึงระบบราชการของไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการป้องกันภัยพิบัติ การฟื้นฟูหลังคลื่นยักษ์ ต่อเนื่องถึงการประมงและการท่องเที่ยวดำน้ำสกูบ้า เมื่อเรือทัวร์ถูกฉลามยักษ์จู่โจม ยิ่งเขียนยิ่งสนุกครับ เรื่องจึงยาวกว่าที่เคยคิดไว้
Megalodon ตีพิมพ์ในนิตยสาร “เปรียว” ตั้งแต่เดือนตุลาคม ผมเขียนและส่งต้นฉบับล่วงหน้าเกือบหมด เพราะไม่มีปัญญามานั่งเขียนทีละตอน พอถึงปลายเดือนธันวาคม เนื้อเรื่องในนิยายกลับกลายเป็นจริง ผมพังข่าวด้วยความตกใจ ทีแรกยังใจชื้นว่าคลื่นของจริงคงทำความเสียหายไม่เท่าในนิยาย แต่เมื่อข้อมูลเริ่มแน่ชัด ผลคือคลื่นจริงรุนแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะหมู่เกาะสุรินทร์ ระหว่างเขียนผมนั่งจินตนาการ คลื่นมาทางไหน โรงอาหารพังยังไง ห้องน้ำเป็นอย่างไร พอของจริงเข้ามาแล้วผ่านไป ผมเดินทางลงใต้ไปเกาะ ได้แต่ยืนอึ้งอยู่หน้าซากโรงอาหารและศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มันเหมือน...เหมือนจนน่าแปลก
คุณผู้อ่าน “เปรียว” กรุณานำเรื่องนี้ไปบอกต่อ จนท้ายสุดมีทีวีมาสัมภาษณ์ อาจารย์รู้ล่วงหน้าได้อย่างไร ? บอกช่วงเวลาคลื่นเข้าและสถานที่เสียหายถูกเป๊ะ ๆ อาจารย์เป็นหมอดูเหรอ ? ผมบอกซื่อ ๆ ว่าไม่รู้ครับ ผมแต่งนิยายโดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นรากฐาน อะไรที่เขียนไปก็คิดด้วยเหตุและผล หากมีนักวิทยาศาสตร์มาเขียนเรื่องอย่างนี้สักคน ก็คงได้เนื้อหาเหมือนที่ผมเขียนมา ไม่ได้เก่งหรือมีซิกส์เซนต์รู้อนาคตล่วงหน้า
ตั้งแต่เริ่มเขียน ผมตั้งใจว่าไง ๆ ต้องทำ Megalodon เป็นพ๊อกเก็ตบุ๊ก ถึงขั้นติดต่อสำนักพิมพ์ไว้แล้ว ลงทุนไปซื้อฟอสซิลฟันของ Megalodon มาจากพิพิธภัณฑ์ในเมืองนอก กะว่าจะนำมาใช้ในวันเปิดตัวหนังสือ มาถึงตอนนี้ได้ใช้สมใจ เมื่อภาคแรกของนิยายเกิดขึ้นโดยสำนักพิมพ์ “ปราชญ์เปรียว” เพื่อให้เนื้อหาครบถ้วนยิ่งขึ้น ผมเขียนเรื่อง “สึนามิ” เพิ่มเติม รวมทั้งนำภาพถ่ายจากทะเลอันดามันมาประกอบ โดยเฉพาะจุดที่มีเนื้อหาในนิยาย เช่น ป่าตอง เขาหลัก ทับละมุ ฯลฯ คุณสมิทธ ธรรมสโรช ยังช่วยกรุณาเขียนคำนิยมให้ โดยบอกว่าเป็นนิยายที่อ้างอิงวิทยาศาสตร์ได้ดีมาก ผมอ่านแล้วแทบตัวลอย ขอบคุณท่านครับ
ต่อจากนี้ไป เป็นบางส่วนจาก Megalodon ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิ
“เขาหลักหรือแหล่งท่องเที่ยวที่เจริญจนสุดกู่ในช่วงหนึ่งทศตวรรษที่ผ่านมา โรงแรมนับร้อยผุดขึ้นในแทบทุกหาด เอกยังจำได้ถึงโรงแรมหนึ่ง ที่เขากับเพื่อนสาวรู้ใจ พากันมานอนทอดกายชมวิวชายทะเลอันดามัน บัดนี้ โรงแรมนั้นอยู่ตรงไหน ชายหนุ่มบอกไม่ได้ จากมุมมองเบื้องบน เขาเห็นแต่เศษไม้เกลื่อนหาด เกลื่อนแผ่นดิน เกลื่อนถนน ขนาดรีสอร์ตที่เป็นตึกยังพังทลาย”
“บางส่วนของคลื่นไหลอ้อมเนินเขา พุ่งเข้าชนโรงอาหาร เรือนไม้สูงเกือบเท่าตึกสามชั้นหายไปในพริบตา”
“ประตูห้องส้วมพังกระจุย มวลน้ำทับถมทุกชีวิตไว้ในนั้น โม่เห็นร่างรุ่นน้องที่เข้าไปแอบกับโถส้วม ลอยคว้างผ่านไป คงเพราะเขาไม่ได้ยึดไว้ให้แน่นพอ ร่างนิสิตหนุ่มรายนั้นถูกดูดออกไปทางหลังคา”
วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554
เปิดตัวหนังสือเมกาโลดอน MEGALODON นวนิยายวิทยาศาสตร์จาก ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น