รายการคนเคาะข่าว ตอน การจัดการน้ำแบบบูรณาการ หลังน้ำลด โดย นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ได้ร่วมพูดคุยถึงประเด็น "วิกฤตน้ำท่วม กทม." ทาง ASTV เมื่อคืนวันที่ 12 ตค.2554
นายศศินกล่าวว่า ที่บอกว่ากรุงเทพฯ มีโอกาสน้ำท่วม 50:50 เพราะถ้าอาทิตย์หน้ามีฝนกลุ่มใหญ่ ส่วนพายุประเมินว่าจะเบนขึ้นไต้หวันไป ซึ่งจากภาพดาวเทียมยังมีกลุ่มเมฆอยู่ ถ้ามาตกเหนือกรุงเทพฯ แถวพระนครศรีอยุธยา หรือนครสวรรค์ อันนี้จะเป็นปัจจัยที่กรุงเทพฯ เอาไม่อยู่ เพราะวันนี้มันสุดแล้ว คันกั้นน้ำเจ้าพระยาสูง 2.50 เมตร ตอนนี้เหลือประมาณครึ่งเมตร และยังไม่รู้ผลว่าพอน้ำขึ้นสูงสุดใน 7 วันนี้ มันจะขึ้นไปเลียบคันขนาดไหน ดังนั้น หากมีฝนเติมมานิดหน่อยมันจะยุ่ง และบริเวณพนังกั้นน้ำที่ยังสร้างไม่เสร็จ ตามแนวน้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่ 2-3 ตอน ถ้าตรงนั้นเกิดพลาด น้ำก็จะเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งก็คือเหตุสุดวิสัย จึงบอกว่าโอกาส 50 : 50 และยังต้องเฝ้าระวัง ภาวะนี้ไปอย่างน้อยอีก 1 เดือน ซึ่งการเตรียมตัวแบบ 50 : 50 ก็คือต้องเก็บของ และเฝ้ารอดูสถานการณ์น้ำ
นายศศินกล่าวอีกว่า กรุงเทพฯ ชั้นในจะท่วมได้ก็มาจาก 2 ทาง คือ แม่น้ำเจ้าพระยาล้นมา และคันกั้นน้ำทางมีนบุรีห ลายคนงงว่าคันกั้นน้ำคืออะไรก็คือถนนสายไหม ร่มเกล้า นั่นแหละ น้ำจะล้นมาทางนั้น หากถามว่าเขตไหนจะท่วมบ้าง บอกไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับว่าทางไหนจะพลาดซึ่งอาจจะไม่ท่วมก็ได้ แต่ถ้าอยู่นอกคันกั้นน้ำ ท่วมแน่ ก็ประมาณเอว-อก ระดับปกติของลุ่มเจ้าพระยา ก่อนที่จะมีคันกั้นน้ำ เวลาน้ำท่วมจะไม่เร็วขนาดนี้ จะค่อยๆ ขึ้น แต่พอเราสู้กับน้ำแล้วสู้ไม่ได้ ถ้าบอกก่อนสัก 3 วัน ก็ยังดี แต่ทีนี้มาบอกว่าสู้ไม่ได้แล้วอีกครึ่งชั่วโมง มันก็ไม่ทันแล้ว
นายศศินกล่าวว่า กรุงเทพฯ ต้องดูกรมชลฯ ว่าระบายน้ำมาอยู่ที่ไหนแล้ว ต้องรู้ว่าดูที่บางไทร ถ้าเกิน 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็ตัวใครตัวมัน แล้วก็ดูหน้ากรมชลฯ ที่ปากเกร็ด ถ้าน้ำขึ้นมาถึงคันกั้นน้ำก็ตัวใครตัวมัน ซึ่งทางเว็บไซต์ของกรมชลฯมีถ่ายทอดแบบเรียลไทม์ และถ้ามีปัจจัยอื่นอย่างฝนก็สามารถตรวจสอบภาพดาวเทียมจากกรมอุตุฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รู้ก่อนได้ประมาณ 4-5 วัน
การแก้ปัญหาน้ำท่วมรักษาป่าไม้ก็สำคัญ ส่วนปัญหาน้ำท่วมภาคกลาง วันนี้เรายังพึ่งคลองรังสิตของรัชกาลที่ 5 อยู่เลย ถ้าไม่มีคลองรังสิตไม่รู้วันนี้จะทำอย่างไร แล้วก็เอาบ้านจัดสรรไปปลูกเต็ม พอวันนี้คิดถึงเรื่องการพัฒนา กลับไปคิดถึงการสร้างเขื่อนเหนือต้นน้ำ ว่ามีเขื่อนแล้วน้ำไม่ท่วม ซึ่งมันไม่จริง เท่าที่เห็นว่ามีเขื่อนแล้วน้ำไม่ท่วมก็มีที่กาญจนบุรี มีเขื่อนใหญ่อยู่ 2 เขื่อน เมืองกาญจน์อยู่ติดเขื่อนเลย แต่ก็ดูแลกาญจนบุรีได้ไม่กี่เมือง แต่พอใต้นั้นมาก็เป็นพื้นที่น้ำหลากเหมือนกัน ฉะนั้นถ้านึกถึงภาคกลางจะเอาเนื้อที่ตรงไหนไปตั้งเขื่อนใหญ่ขนาดนั้นได้
“วิธีการนั้น รัชกาลที่ 5 ทำคลองรังสิตไว้ให้ดูแล้ว คิดว่าถ้ามีคลองระบายน้ำแบบนี้สัก 30-50 ระบบ ให้มีประสิทธิภาพเท่าคลองรังสิต มันก็จะจัดการน้ำหมื่นล้านลูกบาศก์เมตรได้ เพราะระบบระบายน้ำ พักน้ำได้ และจัดการให้มันได้หมื่นล้านแค่นั้นเอง ทำในพื้นที่และให้เกิดระบบนิเวศ ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้ มีปลา มีหอย มีปู เป็นแก้มลิง และมีการระบายน้ำผ่านระบบคลองที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ด้วย กับอีกเรื่องคือคลองในกรุงเทพฯตื้นขึ้น ต้องขุดลอกคลองให้เป็นที่ผ่านน้ำ แต่ปัจจุบันติดที่คนรับผิดชอบ คนที่รู้เรื่องนี้คือกรมชลฯ แต่คนขุดลอกคือกรมเจ้าท่า” นายศศินกล่าว
ด้าน นายหาญณรงค์กล่าวว่า ประชาชนสามารถสังเกตได้เอง คือถ้าไม่มีมวลน้ำเพิ่ม ฝนไม่ตกเพิ่ม น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาลงมาถึงบางปะอิน ถ้าระดับน้ำน้อยกว่า 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คิดว่ากรุงเทพฯค่อนข้างป้องกันอยู่ แต่ถ้ามากกว่านี้ก็ตัวใครตัวมัน อีกทั้งถ้าน้ำมาแบบไม่มีปัจจัยอื่นสมทบสามารถจัดการได้ แต่ปีนี้เหมือนโดนแกล้ง ท่วมข้างล่าง ปล่อยน้ำมาอีก ฝนตก เขื่อนก็น้ำเต็ม เหมือนธรรมชาติทดสอบว่าต่อไปจะหนักกว่านี้หรือเปล่า ปีนี้ผิดธรรมชาติ ตนสังเกตตั้งแต่ต้นปี มีนาคมอากาศหนาว เมษายนน้ำท่วมภาคใต้ มันวิปริต มันเปลี่ยนไปเยอะ
วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554
รายการคนเคาะข่าว : การจัดการน้ำแบบบูรณาการ หลังน้ำลด 12 ต.ค.2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น