วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประเมินผลลัพธ์-ตัวชี้วัดโครงการ FM97.75 ทีนคลับ คลับของวัยมันส์ และถอดบทเรียน 26 ธค 54

           ได้เห็น ได้ไปร่วมกิจกรรมของโครงการ FM97.75 ทีนคลับ คลับของวัยมันส์ มาหลายครั้ง ทั้งการจัดประชุมระดมสมอง, ค่ายทีนคลับ, มหกรรมสื่อ, ฯลฯ ได้เห็นผลงานที่เกิดขึ้นด้วยตา ทั้งความสำเร็จ จุดที่ยังไม่สำเร็จมากมาย แถมยังได้ยินโครงการของทีมงานคนนั้น คนนี้ ฟังดูแล้วก็เริ่มสับสนว่า มีโครงการไหน กี่โครงการ และในวันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม 2554 ก่อนสิ้นปี ก็มีโอกาสไปนั่งฟัง การประเมินผล และถอดบทเรียน ในโครงการ FM97.75 ทีนคลับ คลับของวัยมันส ที่ห้องประชุมภายในอาคาร สวท ชลบุรี ซึ่งไม่รู้รายละเอียดมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่ไปนั่งรับฟังคงทำให้มองเห็นภาพรวมได้บ้าง

         พี่มนัส เดินทางมาที่ สวท ชลบุรี ราว 10 โมงเศษๆ มาประเมินและถอดบทเรียนก่อนเขียนรายงานส่งให้ สสย. ในขณะที่ สาวๆ สวท ทีมงานที่ร่วมโครงการนี้ บางท่านก็ไปต่างจังหวัด บางท่านมีภารกิจหลายอย่าง แต่ก็สละเวลาร่วมประชุม ร่วมประเมินและถอดบทเรียนอย่างเต็มที่


         "จะเอาผลัพธ์ที่กิดขึ้นจริง ตัวเลขจริงๆ ไม่กังวลกับตัวเลข และผลการประเมินที่ได้ ถ้าปีหน้าจะต้องทำโครงการต่อไป จะได้รู้ว่าจะต้องทำแบบไหนอย่างไรกันต่อไป.." คำพูดของพี่มนัส ในช่วงเริ่มต้นการประเมิน





        บรรยากาศการประชุมประเมินงาน เป็นไปอย่างสบายๆ เพราะทีมงานทุกคนก็คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เครียดบ้าง เบาบ้าง พักบ้าง สลับกันไป การประเมินผลลัพธ์และตัวชี้วัด ที่ตั้งไว้มี ผลลัพธ์หลักๆ ดังนี้
        ผลลัพธ์ที่ 1 เกิดอาสาสมัครผู้สื่อข่าวเยาวชน
        - ตัวชี้วัดที่ 1/1 ด้านศักยภาพ ทักษะการผลิตรายการ
        - ตัวชี้วัดที่ 1/2 ด้านการมีส่วนร่วมผลิตรายการ
        - ตัวชี้วัดที่ 1/3 ทักษะเท่าทันสื่อของอาสาสมัครผู้สื่อข่าวเยาวชน


        ผลลัพธ์ที่ 2 คู่มือการผลิตสื่อสำหรับเยาวชน (เขียนข่าว, จัดรายการข่าว) และคู่มือการอบรมหลักสูตรเท่าทันสื่อ
        ผลลัพธ์ที่ 3 เกิดชมรมเยาวชนผลิตสื่อสร้างสรรค์ / เฝ้าระวังสื่อ
        ผลลัพธ์ที่ 4 ผู้ฟังรายการตื่นตัวถึงความสำคัญของการเสพสื่อร้าย

        จากการประเมินในโครงการนี้ ที่มีผู้เข้าอบรม 60 คน อบรมเป็นดีเจเยาวชน และผู้สื่อข่าวเยาวชน ซึ่งกลุ่มผู้เข้าอบรม มีอายุระหว่าง 13-24 ปี อยู่ในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษาของโรงเรียน เข้ารับการอบรมด้านการผลิตสื่อจาก สวท ชลบุรี ให้มีความรู้ ความเข้าใจกระบวนการเท่าทันสื่อ สามารถแยกแยะ วิเคราะห์ข้อมูล ข่าวได้ มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสังคม เปิดประเด็นสร้างการมีส่วนร่วมของสังคม สามารถเขียนและรายงานข่าวในพื้นที่ของตนเองได้
     
       ในช่วงการประเมิน ในผลลัพธ์นี้ใช้เวลานานพอสมควร ทั้งการนึกถึงผลลัพธ์ที่ได้ นึกถึงชื่อน้องๆที่มาเข้าร่วมโครงการ ไล่ชื่อแต่ละคน แล้วประเมินว่า อยู่ในเกณฑ์ไหน น้อย ปานกลาง สูง จัดสังเกตในการประเมิน คือ จากเทปรายการ, ผลสะท้อนจากผู้ฟัง การประเมินของพี่เลี้ยง และการประเมินตนเอง ซึ่งจากการประเมินจาก% ที่ตั้งไว้ ถือว่า ผ่านเกณฑ์ประเมินที่ตั้งไว้

        กว่าจะหมดตัวชี้วัดที่ 1 เวลาก็่ล่วงเลยไปถึง 12.30 น. เลยต้องพักทานอาหารกลางวัน เดินทางไปที่ร้าน มายวัน อาหารเวียดนาม ชวนน้องๆใน สวท ไปร่วมทานอาหารเที่ยงกันด้วย รวมแล้ว 12 คน


         ระหว่างไปถึงร้าน ส่วนหนึ่งมุงดูเมนูเตรียมสั่งอาหาร



        หลังจากอาหารเวียดนามมื้อใหญ่ บรรดา สาว สวท ก็ขอตัวไปทำภารกิจในช่วงนี้ ทั้งไปธนาคาร ไปอัดเทปรายการวิทยุ ไปติดต่องาน ฯลฯ บรรยากาศ ชวนหามุมหลับจริงๆ พี่มนัสก็ชักง่วง บอกว่า วันนี้จะสำเร็จมั้ยเนี่ย ถอดบทเรียนโครงการ

      ช่วงบ่าย หลังจากหลายท่าน แยกไปทำภารกิจต่างๆบ้าง คนที่ยังอยู่ก็มานั่งประเมินกันต่อ ช่วงบ่ายหลายคนมีภารกิจที่ต้องทำหลายอย่าง ส่วนพี่มนัส หลังจากเสร็จงานที่นี่ พรุ่งนี้ต้องเดินทางไปที่ จ.ตราด และมีคิวงานอีกหลายแห่ง




      การประเมินตัวชี้วัดตัวต่อๆมา มีส่วนที่ต้องทำเพิ่มคือ ผลลัพธ์ที่ 2 คู่มือการผลิตสื่อและคู่มือการอบรม ที่จะต้องผลิตขึ้นมาเอง ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งพี่มนัส ให้แนวทางไว้ว่า สิ่งที่ควรจะมีในคู่มือ ได้แก่แนวคิด, อธิบายขั้นตอน กระบวนการ, ตัวอย่าง, ข้อคิด ข้อสังเกต ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ ซึ่งเกณฑ์การประเมินที่ตั้งไว้ คือ
        ระดับ น้อย - เกิดการรวบรวมความรู้ ออกมาเป็นคู่มือ เป็นเอกสารที่เผยแพร่ได้
        ระดับ ปานกลาง - มีการนำไปใช้เผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ
        ระดับ มาก - มีคนนำไปใช้ เป้นคู่มือต้นแบบในการผลิตรายการวิทยุสำหรับเด็กในภาคตะวันออก และพัฒนาต่อยอดให้เกิดความรู้ใหม่ๆ
 
       อ่านดูแล้ว น่าสนใจมากๆ แต่ก็ยากเหมือนกันในการผลิตที่ว่านี้ แต่คงไม่ยากเกินความสามารถในการออกแบบ และทำให้สำเร็จออกมาได้

      ในช่วงถอดบทเรียน มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ และโพสต์ๆลง FB ในตอนนั้น ดังนี้
   
      - ถอดบทเรียนจัดโครงการ กัญเสนอให้เลือกเด็กในพื้นที่ใกล้ๆกัน ไม่ควรนำมาจากต่างอำเภอ จะได้สะดวกเรื่องที่พัก, เลือกจำนวนเด็กให้เกิน 60คน  เผื่อไว้ คนที่ไม่สามารถมาร่วมได้ ก็บอกข่าวต่อๆกันไป สำหรับการทำโครงการทีนคลับ
      -เด็กที่เข้าร่วมอบรมค่ายทีนพลัส 60 คน มี7คนกลับไปจัดรายการของตัวเอง ไม่ใช่จัดที่ สวท ชลบุรีเท่านั้น
       -ความสำเร็จที่ทำให้เด็ก60คน อยู่ร่วมในโครงการมาตลอด คือ มีกิจกรรมให้ทำต่อเนื่องหลังอบรม ทั้งในโครงการ ทำข่าว ผลิตรายการ และมีกิจกรรมอื่นๆของ สวท ให้เข้าร่วม
       -มีกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ สื่อสารกันต่อเนื่องอยู่เสมอ เป็นเพื่อน เป็นครอบครัวเดียวกัน
        -ทีมงานเข้าใจเด็ก เข้าถึงเด็ก สามารถสื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน เข้าไปในใจเด็ก
       -เด็กชอบมาที่สวท อย่างสบายใจ สถานที่เอื้อต่อการเข้ามาเรียนรู้ ทำกิจกรรม พักผ่อน
        -คาดหวังให้เด็กที่มาเข้าค่ายทีนคลับปขยายเครือข่าย
        -น้องในค่ายบางคน อยากเอารายการ สวท ไปเปิดเผยแพร่ด้วยซ้ำ
         - การจัดค่ายหลายครั้ง ตรงกับกิจกรรมอื่นที่มีใน รร กิจกรรมอื่นดึงเด็กออกไป ทำให้มีผู้มาร่วมน้อย
         -รู้ข่าวเฉพาะกลุ่ม ข่าวสารไม่กระจาย ทำให้เด็กหลายคนที่อยากมาร่วมมหกรรมรู้เท่าทันสื่อไม่ได้มาร่วม

        -มีการทำงานกับผู้ปกครองด้วย ส่งผลต่อการให้ความร่วมมือ สนับสนุน
        -มีการกำหนดคุณสมบัติของกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ ให้ข้อมูลในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ
         -ได้เด็กที่สนใจมาเข้าร่วมโครงการ

        เท่าที่ติดตาม และได้มาฟังการประเมินและถอดบทเรียนในวันนี้แล้ว แหม เจ๋งจริงๆ แม้จะมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง แต่เมื่อทุ่มเทใจในการทำงานแล้ว ทำให้ภาพรวม ผลงานในโครงการออกมาเป็นผลที่น่าพอใจ แม้มีงานหลายอย่างที่จะต้องทำพร้อมๆกันก็ตาม แต่หนึ่งในหลายโครงการนี้ ก็เห็นผลที่น่าพอใจ

       ในช่วงท้ายๆ กับการทบทวนความสำเร็จและจุดที่ยังไม่สำเร็จ ในประเด็นที่เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถจัดรายการ+ผลิตข่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ+ เท่าทันสื่อ ความสำเร็จเกิดจากอะไรบ้าง


        1.เนื้อหาเข้าใจง่าย เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
        2. ทีมงานพี่เลี้ยงให้คำแนะนำอย่างใกล้ลชิด ทั้งก่อนและระหว่างจัดรายการ
        3. ทีมงานพี่เลี้ยงมีการติดตามรับฟัง + ประเมิน ให้ข้อเสนอแนะต่อการจัดรายการ
        4. มีการประชุมสร้างความเข้าใจ ถึงรูปแบบรายการ และการพัฒนารายการอย่างต่อเนื่อง
        5. เยาวชนได้เข้าร่วมจัดรายการบ่อย และมีการประเมินตนเอง และเพื่อนๆ

        ส่วนจุดที่ยังไม่สำเร็จ ที่จะต้องแก้่ไขกันต่อไป
        1. อายุต่ำกว่า 13 ปี มีผลต่อการตีความเนื้อหา / สื่อสาร / ตอบโต้ / ในประเด็นที่คุยกัน
        2. ความไม่สม่ำเสมอในการเข้าร่วมกิจกรรม / จัดรายการ (บ้านไกล +เวลาว่าง)

       แนวทางการพัฒนาต่อไป
       - พัฒนารายการในกลุ่มเป้าหมาย ทั้งรายการสด สำหรับดีเจ ระดับมหาวิทยาลัย อุดมศึกษา และ รายการแห้ง ที่จะต้องมีระบบการสื่อสารกับผู้ฟัง เช่น ผ่าน facebook
        -พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลรายการให้กับสถานีเครือข่าย เช่น การนำไฟล์รายการไปใส่ไว้ใน 4share
       - จัดเนื้อหารายการให้เหมาะสมกับ DJ หรือ เลือก DJ  มาจัดรายการให้เหมาะสมกับเนื้อหา

       แม้เวลาจะมีจำกัด และทีมงาน สวท หลายคนติดภารกิจหลายอย่าง แต่เท่าทีั่ถอดบทเรียน และประเมินผลลัพธ์ก็ได้ข้อมูลหลายอย่าง
      นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่หยิบมาเล่า สู่กันฟัง

      แต่วันนี้ 26 ธค 54 เป็นวันเกิดของน้องกัญ กัญจน์ภัสร สถลัชนันท์สกุล ก่อนมีงานปาร์ตี้ช่วงเย็นที่บางแสน ก็ขอถ่ายภาพไว้ซะหน่อย




          ประเมิน ถอดบทเรียน เครียดบ้าง เบาบ้าง หนักบ้าง แป๊บเดียว 18.00 น. สรุปแล้ว พี่มนัสก็ต้องพักค้างที่ชลบุรี ส่วนนายบอนก็ขอตัวกลับมาพัทยา พักผ่อนเช่นกัน

Related Posts by Categories



Widget by Hoctro | Jack Book

1 ความคิดเห็น:

  1. บอนเขียนงานได้น่าอ่านมากครับ เนื้อหายากแต่ทำให้อ่านง่ายๆได้

    ตอบลบ