กำปั่น ข่อยนอก
"ขอขอบคุุณทุกๆท่านที่ให้พรมาเนื่องในวาระวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 60 ปี ของผม ผมจะนำเอาพรที่ประเสริฐของทุกท่านที่ให้มา น้อมถวายพระเจ้าอยู่หัว ให้พระองศ์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแร็ง ห่างหายจากโรคาภัย เพราะถ้าพระองศ์มีพระชนมายุยืนนาน มีพระพลานามัยแข็งแร็ง ชาวไทยทุกคนจะมีความสุขมากที่สุด"
ตามปกติแล้ว เมื่อถึงวันคล้ายวันเกิด มิตรสหาย คนรู้จักจะแวะเวียนเข้ามาอวยพรใน facebook เจ้าของวันเกิดจะกล่าวขอบคุณผู้ที่มาอวยพร ยิ้ม รับพร ชื่นชม ยินดี มีความสุข แต่สำหรับพ่อกำปั่น บ้านแื่ท่น หรือ กำปั่น ข่อยนอก ท่านนึกถึงในหลวง ขอนำพรต่างๆ น้อมถวายพระเจ้าอยู่หัว
คิดต่างจากคนทั่วไปเพราะพ่อกำปั่น รักในหลวงสุดชีวิต
เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบ 60 ปี พ่อกำปั่น ที่หลายคนรู้จักในบทบาทของศิลปินเพลงแหล่ชาวโคราช ได้แหล่กลอน วันเกิดของท่านไว้ว่า
งานวันเกิด ยิ่งใหญ่ ใครคนนั้น
เป่าเค๊กกิน เหล้ากัน บ้างสูบผง
หลงลาภยศ สรรเสริญ เพลินทะนง
วันเกิดส่ง ชีพสั้น เร่งวันตาย
อีกมุมหนึ่ง ซึ่งเหงา น่าเศร้าแท้
หญิงแก่ๆ นั่งหงอย และคอยหาย
โอ้วันนั้น เป็นวัน ฉันเฉียดตาย
วันคลอดสาย โลหิต แทบปลิดชนม์
วันเกิดลูก เกือบคล้าย วันตายแม่
เจ็บท้องแก่ เท่าไร มิได้บ่น
กว่าอุ้มท้อง กว่าจะคลอด รอดเป็นคน
เติบโตจน บัดนี้หนอ นั่นเพราะใคร
แม่เจ็บเจียน ขาดใจ ในวันนั้น
กลับเป็นวัน ลูกฉลอง กันผ่องใส
ได้ชีวิต แล้วก็หลง ระเริงใจ
ลืมมารดา ผู้ให้ เจ้าเกิดมา
ไฉนจึง เรียกกัน ว่า"วันเกิด"
น่าจะเรียก "วันผู้ให้เกิด" จะถูกกว่า
คำอวยพร ที่เขียน ควรเปลี่ยนมา
ให้มารดา ของเจ้า เฝ้าดูแล
เลิกจัดงาน วันเกิด กันเถิดนะ
ควรที่จะ คุกเข่า กราบเท้าแม่
ระลึกถึง พระคุณท่าน ประเสริฐแท้
อย่ามัวแต่ จัดงาน ประจานตัว
(พรุ่งนี้จะไปทำบุญถวายสังฆทานส่งไปให้พ่อและแม่จงมารับเอาส่วนบุญนี้เถิด)
วันคล้ายวันเกิดของท่านเอง แต่ท่านยังระลึกถึงพระคุณพ่อแม่ ดังข้อความที่เขียนไว้ใน facebook ว่า
กำปั่น ข่อยนอก
เช้านี้ของวันที่1ธันวาคม 2494 เป็นวันที่แม่ของเราเจ็บหนักที่สุด ปวดท้องที่สุด และตะเบ่งเราออกมาจนหมดแรง เพราะเมื่อก่อนมีแต่หมอตำแย ไม่มีโรงพยาบาล ต้องอาศัยความชำนาญ ของแม่หมอ เราผ่านการทำคลอดอย่างทุลักทุเล ตามประสาหมอชาวบ้านที่ไม่ได้ผ่านเการเรียนผดุงครรภ์มาก่อน แต่เรารอดมาได้อย่างไร จากวันนั้นจนถึง วันที่ 1 ธันวาคม 2554 60 ปีพอดี
พ่อกำปั่น ได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเผยแพร่ผลงานเพลง ท่านใช้ facebook เผยแพร่วิดีโอการแสดงสดมาอย่างต่อเนื่อง และในวันคล้ายวันเกิด ได้นำประวัติของท่านมาเผยแพร่อีกครั้ง ดังที่ยกมานี้
นายกำปั่น ข่อยนอก ( บ้านแท่น )
กำเนิด
เด็กชายกำปั่น ได้ถือกำเนิด มาลืมตาดูโลก วันที่ 1 ธันวาคม ปี พุทธศักราช 2494 ปีเถาะ ตรงกับวันอาทิตย์ เป็นลูกชาวนา บิดาชื่อ พ่อดี มารดาชื่อ แม่เพียร ข่อยนอก ณ.บ้านเลขที่ 7 บ้านแท่น ต.โพนทอง อ.บัวใหญ่ จ. นครราชสีมา ซึ่งมีพี่น้องเกิดร่วมท้องเดียวกัน 4 คน คือ 1 นายดัด ข่อยนอก ( เสียชีวิตแล้ว)
2 นางห่าม ข่อยนอก
3 นางบุญนาค ข่อยนอก (เสียชีวิตแล้ว )
4 นายแสวง ข่อยนอก
เด็กชายกำปั่น พอคลอดออกมาลืมตาดูโลกได้ประมาณ 6-7 เดือน มารดาได้เสียชีวิตลง จึงต้องอยู่ในความอุปการะดูแล ของพี่ๆ บางครั้งต้องอาศรัยดื่มนมจากหญิงแม่ลูกอ่อนในละแวกใกล้เคียง ด้วยความเวทนาสงสาร (เมื่อก่อนยังไม่มีนมผง หรือนมกระป๋อง) และบางครั้งต้องดื่มน้ำข้าวรินผสมใส่น้ำตาล (อร่อยมาก) จวบกับเด็กชายกำปั่น เป็นเด็กค่อนข้างจะสมบูรณ์แข็งแรง จึงไม่ค่อยมีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนเท่าไรนัก จะมีก็เป็นเพียงโรคซางตาเหลื่อม ( ตาไม่ค่อยมองเห็นเมื่อยามค่ำคืน หรือตื่นจากนอนใหม่ๆ) พี่สาวและพี่ชายพยายามหารังมดดำ มาต้มแล้วรมตาจึงค่อยหาย ( เป็นยาแผนโบราณชะงัดนักแล) เมื่ออายุได้ประมาณ 3-4 ขวบ มักจะเป็นแผลที่น่องเท้า และขาพับ เป็นแผลที่รักษาไม่ค่อยจะหาย แต่ไม่ใช้เป็นโรคผิวหนัง เขาบอกว่า โรคน้ำเหลืองเสีย มันจะเป็นๆหายๆ อยู่อย่างนั้น เมื่อเริ่มจะเป็นเมื่อไร จะมีอาการคันที่ขาพับ และน่อง พ่อต้องไปหาใบวัชพืชชนิดหนึ่ง เรียกว่าใบ สาระเสร็จ มาบดให้ละเอียดผสมเกลือนิดๆ แล้วทาที่บริเวณแผล ไม่นานก็จะหาย แต่ผอมแห้ง พุงโร เป็นโรคซางตาลขโมยเหมือนเด็กอื่นๆไม่ค่อยเป็น คงจะเป็นเพราะอานิสงส์ที่ได้กินน้ำข้าวริน ที่อุดมไปด้วยวิตามินกระมัง
สมัยเมื่อก่อน อาหารจำพวก เนื้อหมู เนื้อวัว อย่าหวังเลยว่าจะได้กินง่ายๆ เพราะปีหนึ่ง ชาวบ้านจะล้มหมู หรือล้มวัว มาทำเป็นอาหารก็ยาก จะได้กินอยู่บ้างก็เฉพาะเนื้อเป็ด ไก่ แต่ถ้าคราใดที่มีการล้มหมู หรือวัว ควาย จะได้ยินเสียงสับเขียงกันวุ่นวายหัวบ้านท้ายบ้านเลยเชียว
จุดหักเหสำคัญที่สุดครั้งแรก ทำให้เด็กกำพร้ามีหนทางเดิน ก่อนที่จะถึงเกณฑ์อายุเข้าโรงเรียน เมื่อวันเทศกาลสำคัญทางศาสนา อาทิ วันเข้าพรรษา ออกพรรษา สงกรานต์ ชาวบ้าน ปู่ย่า ตายาย มักจะนำเด็กๆ ไปทำบุญที่วัด คนแก่ก็จะนั่งฟังเทศน์บนศาลา เด็กๆก็จะวิ่งเล่นในสนามวัดกันอย่างสนุก เล่นซ่อนหาบ้าง เล่นหมากเก็บบ้าง เล่นตี่ หรือรีๆข้าวสาร โดยมากเด็กผู้ชายจะชอบเล่น บั้งโพล้ะ ( นำกระบอกไม้ไผ่มาหนึ่งอัน และทำไม้สำหรับ กระทุ้งเข้าไปในรูกระบอกไม้ไผ่หนึ่งอัน แล้วไปหาหน่วยพลับพลา ที่เกิดขึ้นอยู่ตามป่า ถ้ากินดิบๆจะมีรสฝาด ถ้าหน่วยไหนสุกจะมีรสหวาน นำหน่วยดิบๆ มายัดลงที่รูกระบอกไม้ไผ่ แล้วใช้ไม้ที่ทำสำหรับกระแทก กระแทกลูกพลับพลาเข้าไป ให้ลูกพลับพลาหลุดออกอีกทางด้านหนึ่ง จะมีเสียงดัง โพล้ะ ) การเล่นบั้งโพล้ะจะมีอันตรายถ้าหากนำไปยิงกันจะเจ็บ ถ้าถูกลูกตาๆอาจจะบอด แต่เด็กผู้ชายชอบเล่นกันมาก ทำมาประกวดแข่งขันกัน ถ้าของใครยิงออกเสียงดังโพล้ะ ดังมากๆคนนั้นจะชนะ ไม่เหมือนเด็กผู้ชายสมัยนี้ เขามีปืนพลาสติกเล่นกัน
เด็กชายกำปั่น ก็จะชอบมาเล่นสนุกสนานกับเพื่อนที่วัดเหมือนเช่นเคย แต่ วันนี้ มันช่างแปลกกว่าวันอื่นๆ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันพระออกพรรษา ตักบาตรเทโว บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ จะนุ่งผ้าจูงหางหลายหลากสี ตัดผมทรงดอกกระทุ่ม เดินจับกลุ่มมากันที่วัด เพื่อจะร่วมตักบาตรเทโว สาวหนุ่มก็จะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ ล้วนเป็นผ้าไหมทอมือ มีผ้าขาวม้ารัดเอว ประแป้งที่ใบหน้าเป็นจุดๆ ทุกคนล้วนหน้าตาแจ่มใสสดชื่นสมกับเป็นชาวพุทธ นี้คือความเป็นอยู่ของชุมชนบ้านนอกสมัยก่อนทุกคนจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันหมด จะได้เจอะเจอกัน ในวันเทศกาลที่สำคัญทางศาสนา นอกนั้นก็จะทำงานไร่งานนากันตามประสาคนชนบท ที่ไม่มี ทีวี ไม่มีวิทยุเอ็ฟเอ็ม นอกจากวิทยุทรานซิสเตอร์ใช้ถ่านไฟฉาย 4 ก้อน 3 ก้อน เป็นวิทยุยี่ฮ้อธานินรุ่นก่อน
ในวันนั้นเด็กชายกำปั่น กำลังวิ่งเล่นตามประสาเด็กๆ บังเอิญเหลือบแลไปเห็น เด็กชาย 2-3 คน ที่เป็นเด็กวัด ยืนอยู่ที่หน้าต่าง เด็กเหล่านั้นจะมีผ้าขาวม้าสีเหลืองห่มคนละผืน คงจะเป็นผ้าอาบน้ำฝนของพระที่เก่าแล้วและท่านแจกให้เด็กวัดใช้ห่ม เด็กเหล่านั้นจะโกนผมออกหมด คงไว้แต่เฉพาะคิ้ว ดูแล้วน่ารัก และมีราศีกว่าเด็กชาวบ้านธรรมดา ทำให้เด็กชายกำปั่น หยุดจ้องมองดูเด็กเหล่านั้นด้วยความสนใจ ในใจคิดว่า เราทำไมจะได้เป็นเด็กวัดอย่างเขาเหล่านั้น ถ้าเราได้เป็นเด็กวัด เราคงจะได้ผ้าผืนสีเหลืองไว้ห่ม และจะได้โกนผมทิ้งเหมือนกับเด็กเหล่านั้น และเมื่อถึงวันสำคัญๆทางศาสนา ประชาชนชาวพุทธมาที่วัดมากๆ เราก็จะได้ยืนดูผู้คนที่หน้าต่าง ใครเห็นคงจะโก้พิลึก ความคิดนี้วูบเข้ามาในสมองของเด็กชายกำปั่น และจากวันนั้นเป็นต้นมา เขานึกเสมอว่าทำไมจะได้ไปอยู่ที่วัด เป็นเด็กวัด ถ้าจะให้สมความปารถนา เห็นทีจะต้องเข้าไปตีสนิทกับเด็กวัดเหล่านั้นเพื่อจะมีหนทางได้ไปเป็นเด็กวัดอย่างเขาบ้าง
วันต่อมา ที่โรงเรียนวัดบ้านเสว ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เด็กชายกำปั่นไปเรียน และเด็กวัดบ้านแท่นเหล่านั้นก็จะไปเรียนที่เดียวกัน วันนั้นทั้งวันเด็กชายกำปั่น พยายามเข้าไปพูดคุยตีสนิท กับเด็กวัดเหล่านั้น ถามถึงเรื่องการเป็นเด็กวัด ว่าสนุกไหม ได้กินอะไรบ้าง ทำไมถึงได้ผ้าสีเหลืองเหมือนผ้าจีวรพระมาห่ม ก็ได้รับคำตอบจากเด็กเหล่านั้นว่า ถ้าใครไปเป็นเด็กวัด พระอาจารย์ทิม ซึ่งเป็นพระสมภารเจ้าอาวาสจะแจกผ้าห่มสีเหลืองให้คนละผืน และเมื่อก่อนถึงวันสำคัญทางศาสนา พระก็จะโกนหัวให้ จะได้กินขนม อาหารหวานคาวที่เหลือจากพระท่านฉันแล้ว รับรองไม่มีอดอยาก อยากไปเป็นเด็กวัดไปอยู่ด้วยกันไหมละ เด็กเหล่านั้นเอ่ยปากชวน ยิ่งสร้างความดีใจให้กับเด็กชาย( ( หน้าที่ 3 ) กำปั่น เพราะสิ่งที่ฝันเอาไว้กำลังเป็นจริงแล้ว และนัดแนะกันว่า หลังจากกลับจากโรงเรียน แล้วจะนำไปที่วัดเลย เพื่อไปฝากตัวเป็นเด็กวัดที่สำนักพระอาจารย์ทิม วันนั้นเด็กชายกำปั่น นั่งยิ้มทั้งวัน เพราะกำลังจะเดินทางไปสู่สิ่งที่ใฝ่ฝันเอาไว้
หลังจากโรงเรียนเลิก เด็กชายกำปั่น จึงเดินทางกลับพร้อมกับเพื่อนใหม่คือเด็กวัดเหล่านั้น ระยะทางจากโรงเรียนวัดบ้านเสว มาบ้านแท่น ประมาณ 5-6 ก.ม. วันนั้นรู้สึกว่าหนทางยาวไกลเหลือเกิน ทั้งเดินทั้งวิ่งเพื่อที่จะให้ถึงบ้านเร็วๆ
และเมื่อมาถึงบ้าน พี่สาว 2 คนที่คอยเลี้ยงดูมาตั้งแต่อายุ 6 เดือนครั้งที่แม่ตายจาก เขาทั้งสองเลี้ยงดูน้องโดยไม่เคยให้พรากจากอกไปไหน กำลังง่วนทำงานอยู่ที่บ้าน เด็กชายกำปั่น เมื่อมาถึงบ้านก็โยนกระเป๋าหนังสือทิ้งไว้บนชานเรือน ด้วยความว่ากลัวเพื่อนเด็กวัดจะคอยนาน จึงรีบวิ่งออกจากบ้านมาหาเพื่อจะได้ไปวัดพร้อมกัน พี่สาว 2 คน เห็นดังนั้นจึงเรียกถามว่า เฮ้ย ไอ้ปั่น มึงจะไปไหน มาๆรีบเปลื่อนเสื้อผ้า จะได้ไปอาบน้ำกินข้าวเย็นกัน เด็กชายกำปั่น จึงเรียกตอบไปว่า กูจะไปอยู่วัด ว่าแล้วก็รีบวิ่งไป คำว่ากูจะไปอยู่วัด ทำให้พี่สาวทั้งสอง ต้องกอดกันร้องให้ เพราะว่าเลี้ยงน้องกำพร้ามา ไม่เคยให้พรากไปจากอกแม้แต่ครั้งเดียว ด้วยความสงสารน้องจึงต้องกอดกันร้องให้
ชีวิตเด็กวัด
เด็กชายกำปั่น ต้องอาศัยกินข้าวก้นบาตรพระอาจารย์ทิม ปฏิบัติพระสงฆ์องศ์เจ้า ตั้งแต่เรียนหนังสือชั้นประถมปีที่หนึ่ง จนจบประถมปีที่สี่ ในขณะที่เป็นเด็กวัด ก็ได้เรียนหนังสือพระ เช่นท่องบ่นบทสวดมนตร์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนานและสามารถสวดได้จบหมดตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะช่วงขณะที่เป็นเด็กวัด พระอาจารย์ทิม เจ้าอาวาส ท่านจะพร่ำสอนให้เด็กทุกคน รู้ในบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ สิ่งสำคัญคือ คุณของบิดา มารดา ผู้ให้กำเนิด ถ้าไม่มีพ่อแม่เราอาจจะไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อาจจะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เมื่อเกิดเป็นสัตว์เดียรฉานก็ไม่มีโอกาสทำบุญ สร้างสมคุณงามความดี สร้างบารมี และการที่จะทำงานการอะไร ต้องประกอบด้วยอิทธิบาท 4 งานจึงจะสำเร็จ ตั้งใจทำให้ดีที่สุด สำเร็จแค่ใดเราก็เอาแค่นั้น อย่าไปเหิมเห่อทะเยอทะยาน ให้เกินกำลังตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ขึ้นอยู่กับบุญบารมีของตัวเอง ว่าได้สร้างทำมามากน้อยเพียงใด คำพร่ำสอนของพระอาจารย์ทิม เด็กชายกำปั่น ยังสามารถมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จนถึงปัจจุบันก็ยังยึดเอาคำสอนเหล่านั้นเป็นแนวทางปฏิบัติอยู่
เด็กวัดในสมัยนั้น เด็กชายกำปั่นอายุน้อย และตัวเล็กกว่าเพื่อน จึงมักจะถูกเด็กวัดรุ่นพี่ๆ ข่มเหงรังแกอยู่บ่อยๆ อย่างเช่นที่วัดบ้านแท่น มีพระแก่หลายองศ์ที่อาพาธ บางองศ์ถึงขนาด ถ่ายรดผ้าสบงจีวรของตนเอง อย่างเช่นหลวงตาหรุ่น ท่านอายุมาก และอาพาธหนัก เกิดอาการท้องร่วงอย่างแรง เมื่อมีการถ่ายอุจจาระเปื้อนสบงจีวร ก็เป็นหน้าที่ เด็กวัดจะต้องนำไปชำระ ไปซัก เด็กวัดรุ่นใหญ่มักจะรังเกียจ และมักจะโยนผลงานนี้ให้เด็กชายกำปั่นไปทำ เด็กชายกำปั่น (หน้าที่ 4 )จึงต้องฝืนใจไปทำ เพราะไม่งั้นก็จะถูกเด็กรุ่นพี่ตบตีเอา พระภิกษุชรา และอาพาธหลายองศ์ที่เด็กชายกำปั่น ปฏิบัติให้อยู่เสมอ จนเป็นที่รักของพระในวัดหลายๆองศ์ จะสังเกตดูจากเมื่อพระท่านฉันภัตตาหารเสร็จ จะเป็นหน้าที่ของเด็กวัดยกไปรับเศษ หลวงตายิ้ม พระในวัดมักจะปั้นข้าวเป็นก้อนๆ บางครั้งก็ 3 ก้อนบ้าง 9 ก้อนบ้าง ให้เด็กชายกำปั่นกิน บอกว่าเป็นข้าวปั้น ที่เสกคาถาทรงปัญญาเอาไว้ ถ้ากินทุกวันๆ จะทำให้ปัญญาดี ท่องหนังสือจำไว ข้าวปั้นเหล่านี้เด็กชายกำปั่น จะได้กินบ่อยกว่าเพื่อน จึงเป็นเหตุให้เด็กๆรุ่นพี่อิจฉา บ่อยครั้งที่ถูกกลั่นแกล้งโดนเต๊ะอยู่บ่อยๆ ข้าวปั้นเสกดูเหมือนจะใช้ได้ผล เพราะเมื่อพระอาจารย์ทิม ให้เด็กวัดท่องหนังสือเจ็ดตำนาน ใครได้มากน้อยแค่ไหน ต้องมาสวดให้พระอาจารย์ทิมฟัง โดยมากเด็กชายกำปั่น จะท่องได้มากกว่าเพื่อน เมื่อมาสวดให้พระอาจารย์ทิมฟังจึงสามารถสวดได้มากกว่าเพื่อน ยิ่งทำให้เพื่อนรุ่นพี่อิจฉา ถูกตีอยู่บ่อยๆ จนบางครั้งต้องตัดทอนบทท่องเจ็ดตำนานลงให้เหลือเท่าๆกับเพื่อนรุ่นพี่ เพื่อเป็นการป้องกันตัวมิให้ถูกตี ทั้งที่ๆท่องจำได้มากกว่านั้น วันไหนว่างๆเด็กชายกำปั่น มักจะไปขลุกอยู่ภายในพระอุโบสถ เพื่ออ่านหนังสือใบลาน แปดหมื่นสี่พันเล่ม ซึ่งเรียกว่าหนังสือพระไตรปิฎก เขาจะเก็บใส่ไว้ในตู้ใบลานใหญ่ๆ เพราะในหนังสือนั้นจะมี นิทานประกอบเรื่องของแต่ละผูก เด็กชายกำปั่น มักจะเพลินกับการอ่านนิทานชาดกต่างๆ แทนการวิ่งเที่ยวเล่นเหมือนเด็กอื่นๆ เพราะยิ่งอ่านยิ่งสนุก ยิ่งเพลิดเพลิน และได้รับความรู้บางครั้งจะนำนิทานชาดกเหล่านั้นมาเล่าให้เด็กๆ หรือชาวบ้านฟัง จนชาวชาวบ้านหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไอ้ปั่นนี้มันเป็นเด็กเจ้าปัญญา เด็กตัวเท่านี้สามารถเล่านิทานได้เป็นร้อยเป็นพันเรื่อง และมีสาระคติสอนใจด้วย โดยเขาหารู้ไม่ว่า นิทานที่นำมาเล่านั้น ก็ได้มาจากการอ่าน หนังสือพระไตรปิฎก แปดหมื่นสี่พันผูกนั้นเอง เพราะนิทานเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้ เพราะพระพุทธเจ้าจะทรงตรัสหรือบัญญัติ พระวินัยข้อใด จะต้องมีที่ไปที่มาทั้งหมด ฉะนั้นพระธรรมเทศนาของพระองศ์แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ จึงมีนิทานถึงแปดหมื่นสี่พันเรื่อง และสิ่งสำคัญเด็กชายกำปั่น ได้นำเอาความรู้เหล่านั้นมาเป็นแม่บทในการแต่งการร้อง ทั้งการแต่งเพลงโคราช เพลงอื่นๆ อีกมากมาย นี้คือประโยชน์ของการอ่าน
จากเด็กวัดเข้าสู่ดงขมิ้น
เมื่อศึกษาจนจบประถมปีที่สี่ (เพราะสมัยนั้นภาคบังคับมีแค่ ป. 4) จึงได้ออกจากโรงเรียนมา เพื่อนหมู่บางคน เขาก็ไปเรียนมัธยมต่อ การเรียนหนังสือระดับมัธยมนั้น จะต้องไปเรียนที่ในตัวอำเภอ คืออำเภอบัวใหญ่ บิดาของเด็กชายกำปั่น มาคิดดูว่าครั้นจะส่งลูกให้ไปเรียนมัธยมเหมือนเด็กคนอื่น เงินทองก็ไม่มี ไหนจะค่าเสื้อผ้าไหนจะค่าเทอม ค่ากระดาษดินสอ ตำราเรียน ค่าเช่าบ้านจิปาถะ คงจะส่งไม่ไหวเป็นแน่แท้ จึงคิดว่า อย่ากระนั้นเลย เห็นทีจะต้องส่งไปให้บรรพชาเป็นสามเณรแล้วเรียนธรรมะบาลีจะดีกว่า เพราะไม่ต้องไปเสียค่าเทอมค่าอาหาร เมื่อคิดได้ดังนั้น จึงได้นำเด็กชายกำปั่นเดินทางจากบ้านแท่น ไปที่ตัวอำเภอบัวใหญ่ โดยจุดหมายปลายทาง ที่วัดบัวใหญ่ ที่มีท่านเจ้าคุณปทุมญาณมุณี ( หลวงพ่อเขียว) เป็นเจ้าคระอำเภอและเป็นเจ้าอาวาส เพราะที่ (หน้าที่ 5)วัดนั้นมีการเรียนปริยัติธรรม ตั้งแต่ ชั้นนักธรรมตรี โท เอก และมีการสอนบาลี สามารถสอบได้ถึงมหาเปรียญธรรม 5 ประโยคได้ พ่อดีจึงได้ตัดสินใจนำเด็กชายกำปั่น ไปฝากไว้ที่นั้น พร้อมกับเด็กในบ้านแท่น 4 คน มี เด็กชายเฉลียว บุญช่วย เฉลิม สงัด
ความที่ไม่เคยจากบ้านไปนานๆ ทำให้อดที่จะคิดถึงบ้านไม่ได้ แต่ก็มีเพื่อนไปอยู่ด้วยถึง 4 คน ก็ค่อยยังชั่วหน่อย วันที่พ่อดีนำไปฝากกับพระมหาน้อย พระเลขาเจ้าคณะอำเภอ มีเงินติดตัวไปเพียง 100 บาท เงิน 100 บาทสมัยนั้นถือว่าหายากที่สุด แต่ที่ได้ไปเพราะขายไก่บ้าง ขายหมูบ้าง และข้าวเปลือกอีก 2-3 กระสอบ พอได้ไปซื้อผ้าจีวร เครื่องบริขาร ปากกาไพสล๊อต พร้อมหมึก 1 ขวด หนังสือนวโกวาทสำหรับเรียนนักธรรมชั้นตรี ที่เหลือนิดหน่อยก็ฝากมหาน้อยเอาไว้ เมื่อยามจำเป็นเจ็บป่วยค่อยเบิกมาใช้
วันที่ 15 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2505 ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีท่านเจ้าคุณพระปทุมญาณมุนี เป็นพระอุปชายะ มีพระมหาน้อย สิริธรรมโม เป็นพระคอยดูให้การดูแล
โดยจำพรรษาอยู่ที่วัดบัวใหญ่ตลอด
ณ. ที่วัดบัวใหญ่ มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษา และเล่าเรียนปริยัติธรรม ทั้งพระและสามเณรรวมแล้วประมาณ เกือบ 300 องศ์ นับว่าเป็นสำนักเรียนที่ใหญ่พอดู
การบิณฑบาตลำบากมาก ต้องเดินสายบิณฑบาตถึง 6 สาย 1 สายตลาดเก่า 2 สายบ้านดอนฆ่าเสือ. 3 สายห้วยระหัด 4 สายบ้านบัว 5 สายบ้านจาน 6 สายบ้านดอนขุนสนิท
พระภิกษุสามเณร จะต้องตื่นตั้งแต่ ตี 4 ทำกิจเสร็จ แล้วต้องออกบิณฑบาต ถ้าตื่นสายไม่ทันเพื่อนวันนั้นก็ต้องอด จะต้องตื่นมาปูอาสนะเอง จัดน้ำภาชนะเองทั้งหมด จัดไว้เสร็จถึงออกบิณฑบาต ข้าวที่ได้จากการบิณฑบาตได้เท่าไร ก็ฉันเท่านั้น ไม่มีเพิ่มเติม
สามเณรกำปั่น เป็นสามเณรที่ตัวเล็กกว่าเพื่อน ในการเดินบิณฑบาตจึงต้องอยู่หลังสุด การเดินบิณฑบาตทุกครั้งจะต้องเดินเป็นแถวยาว 30-40 องศ์ มีพระภิกษุนำหน้า สามเณรเดินตามหลัง ผู้ที่จะใส่บาตรต้องหุงข้าวหม้อใหญ่ๆถึงจะใส่ได้ครบทุกองศ์ บ่อยครั้งที่ไม่ถึงองศ์สุดท้าย คือสามเณรตัวเล็กๆ เณรกำปั่น ข้าวมักจะหมดเสียก่อน บางวันจะได้ข้าวทัพพีเดียวบ้าง สองทัพพีบ้าง ฉันอาหารมักไม่ค่อยอิ่มเพราะบิณฑบาตข้าวได้นิดเดียว การเดินบิณฑบาตก็จัดเป็นเวร วันนี้ไปสายที่ 1 วันต่อไปก็ต้องไปสายที่ 2 สลับอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป ไม่ใช่ว่าใครชอบไปสายไหนก็ไปได้เป็นประจำอย่างนั้นถือว่าผิดกฎ
ผิดกติกามารยาท ถ้าวันไหนได้ไปเวรบิณฑบาตที่บ้านดอนฆ่าเสือก็ค่อยยังชั่วหน่อยจะได้ข้าวมาก แต่ต้องตื่นแต่เช้าตรู่ ราวๆ ตี 3 และต้องผจญกับพวกสัตว์เลื่อยคลานจำพวกงู และยามไหนที่เป็นหน้าฝนจะลำบาก เพราะต้องเปียกฝน เปียกน้ำค้าง แต่ก็คุ้มหน่อยได้อาหารมาก เพียงพอกับการฉัน
สามเณรกำปั่น บรรพชาเป็นสามเณร และเรียนหนังสือปริยัติธรรม เพื่อจะสอบนักธรรมชั้นตรี โดยมีอาจารย์เทียนเป็นผู้สอน การเรียนนักธรรมชั้นตรี จะต้องท่องหนังสือนวโกวาทให้จบทั้งเล่ม ( หน้าที่ 6 )หนังสือพุทธประวัติ หนังสือพุทธภาษิต เพื่อแต่งเรียงความแก้กระทู้ อันเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะเป็นนักแต่งเรื่อง แต่งเพลง การเชื่อมเนื้อหาแต่ละเนื้อหาที่แตกต่างกัน แต่สามารถแต่งให้เชื่อมต่อกันได้อย่างสนิท โดยมีสุภาษิตอ้างอิงเป็นหลักฐาน สามเณรกำปั่น จะเก่งในการแต่งเรียงความแก้กระทู้มาก เพราะด้วยสาเหตุจากการได้อ่านหนังสือพระไตรปิฎก เมื่อครั้งยังเป็นเด็กวัด จนได้รับการยกย่องจาก พระอาจารย์เทียนว่า เณรน้อยคนนี้ต่อไปจะเป็นนักเขียนเรื่องราว นักแต่งเพลง นักจิตนาการที่ดีคนหนึ่ง (อ่านต่อฉบับหน้า)
ที่มา https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=317569308254380&id=100000039418221
นี่คือ ศิลปิน ครู อาจารย์ นักคิด ผู้หลักผู้ใหญ่ของไทยที่เป็นแบบอย่างที่ดี ที่ลูกหลานทุกคนควรยึดถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
เนื่องในวันคล้ายวันเกิด 60 ปี ของพ่อในวันนี้ ขอให้พ่อกำปั่น มีความสุขมากๆสุขภาพแข็งแรง สร้างสรรค์ผลงานดีมีคุณค่าสู่คนไทยต่อไปนะครับ
ส่งท้ายด้วย วิีดีโอจากงานบวชนาคหมู่ถวายในหลวงเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ที่วัดระกาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น