ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างวันมาฆบูชา นอกจากการทำบุญ ทบทวนถึงความสำคัญของวันมาฆะ และเติมหลักธรรมะให้กับตนเองแล้ว ธรรมะ ก็ชำระล้างความคิด จิตใจคนได้เป็นอย่างดี กับผลงานในโครงการจริยธรรมสัญจร สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น "ค่ายสร้างคนดีศรีดินทอง" ที่กาฬสินธุ์... ซึ่งเลือกหยิบนำมาฝากกัน เพื่อให้ได้สัมผัสอีกมิติหนึ่งของธรรมะสร้างคนในวันมาฆบูชา.ผ่านภาพต่างๆเหล่านี้.......
โครงการ "จริยธรรมสัญจร สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น" โดย วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด ความรู้ คู่คุณธรรม ความสุขที่ยั่งยืนที่เน้นการประยุกต์หลักธรรมในพระพุทธศาสนาในการพัฒนาคนและปรับให้เข้ากันได้กับสังคม เน้นกลุ่มเป้าหมายที่วัยรุ่นหรือเยาวชนซึ่งถือว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่และเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยตระเวนไปตามโรงเรียนมัธยมต่างๆในจังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งที่เป็นโรงเรียนประจำอำเภอและโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา
การดำเนินโครงการเช่นนี้ เป็นการเชื่อมต่อและสอดประสานกันระหว่างศาสนากับสังคมได้อย่างลงตัว ได้เห็นผลสัมฤทธิ์ของโครงการเป็นที่ประจักษ์ กล่าวคือ ผู้ที่ผ่านการอบรมธรรมะในโครงการมีพัฒนาการเชิงบวกขึ้นในหลายๆ ด้าน เช่น มีภูมิคุ้มกันตัวเองจากสิ่งเร้าภายนอก และรู้จักยั้งคิดได้ดีกว่าก่อนหน้าที่จะเข้าอบรม มีจิตสำนึกรักและรู้จักบุญคุณของบุพการี มีคุณธรรมที่พึงประสงค์บนพื้นฐานทางจริยธรรมอันดีงามตามหลักการในพระพุทธศาสนา อนึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อยอดจากปีที่แล้ว ที่มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 6,175 คน ในสถานศึกษา 13 แห่ง ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อต้องการต่อยอดแนวคิดจากปีที่แล้วให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
งานเผยแผ่เช่นนี้มีลักษณะคล้ายกับการดำเนินนโยบายการเผยแผ่ศาสนาของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล นั่นคือ พระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงดำเนินวิธีการเช่นนี้มาก่อน ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในพระไตรปิฎกว่าในสมัยพุทธกาล พระองค์ได้เสด็จจาริกไปพร้อมกับคณะสงฆ์หมู่ใหญ่เพื่อเผยแผ่ศาสนา นำหลักธรรมที่พระองค์ตรัสรู้แล้วไปแสดงให้สังคมอินเดียโบราณได้รู้และปฏิบัติตาม ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่า สมัยพุทธกาลคนจำนวนมากในชมพูทวีป (ชื่อเรียกประเทศอินเดียโบราณ) ยังคงนับถือศาสนาพราหมณ์กันมั่นคงและแพร่หลาย ด้วยเหตุนี้จึงน่าจะเป็นไปได้ว่า การเผยแผ่ศาสนาของพระพุทธเจ้าในยุคนั้นย่อมต้องมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่พระองค์ก็ทรงดำเนินกิจการพระศาสนาให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งการสอนให้รู้ตามและปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้เห็น จนท้ายที่สุดพระพุทธศาสนาได้เป็นที่ยอมรับนับถือของคนจำนวนมากในสมัยนั้น
รูปแบบการออกเผยแผ่ศาสนาเช่นนี้พบว่า วิธีการดังกล่าวเป็นการนำธรรมะเข้าไปในชุมชนหรือเข้าไปสู่สังคมนั่นเอง เพราะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้ามิได้ทรงรอที่จะให้คนมารับพระธรรมคำสอนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ได้ทรงนำพระองค์เองเข้าไปหาคนในสังคม และได้เข้าไปอยู่ใกล้สังคมรับรู้ความเป็นไปของคนในสังคม สุดท้ายนำไปสู่การเชื่อมศาสนาเข้ากับสังคมด้วยหลักธรรมที่คนในสมัยนั้นสามารถพิสูจน์ได้
การดำเนินโครงการจริยธรรมสัญจร สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นโครงการของมหาวิทยาลัยสงฆ์ (มมร.) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่ไม่เน้นการแสวงหากำไรทางเศรษฐศาสตร์หรือการตลาด หากแต่เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งมั่นบริการวิชาการแก่ชุมชนตามหลักการทางพระพุทธศาสนา ยิ่งกว่านั้นยังตอบโจทย์เรื่องค่าเล่าเรียนสำหรับลูกหลานชาวบ้านที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาในจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ ที่กล่าวเช่นนี้เพราะโครงการดังกล่าวของวิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ (มมร.) ได้ออกแนะแนวการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2554 พร้อมทั้งได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจนจำนวน 84 ทุน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา ซึ่งจะให้เช่นนี้ทุกปีไปแล้วแต่เงื่อนไข
ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบโครงการจริยธรรมสัญจร สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการดำเนินตามรอยบาทของพระพุทธเจ้าได้เช่นกัน อนึ่งสิ่งที่ประจักษ์ชัดยิ่งก็คือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเพื่อสังคมอย่างแท้จริง และเป็นศาสนาที่สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืนและลงตัว จึงทำให้ชาวพุทธในเมืองไทยมีความอ่อนโยนละมุนละม่อม รวมทั้งมีความเอื้ออาทรอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมชาติแต่ต่างศาสนาได้อย่างผาสุกมาเป็นเวลานานนั่นเอง
วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555
ธรรมะ หยาดน้ำตา กับบันทึกถึงแม่
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น