วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประวัติศาสตร์และความทรงจำที่ไม่ถูกทำลาย แบบไม่รู้ตัว

            ยุคนี้ อะไรก็รวดเร็วว่องไว สะดวกไปหมด จะติดต่อสื่อสารจากมุมไหนของโลก ทำได้เพียงเสี้ยววินาที เครื่องมืออุปกรณ์มีมากมายในการบันทึกสิ่งต่างๆไว้


            การบันทึกความทรงจำเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งภาพนิ่ง หรือ วิดีโอ บันทึกได้สะดวกรวดเร็ว บันทึกได้มากมาย ไม่อั้น  แต่เชื่อไหมว่า ภาพที่บันทึกไว้ มีอายุการใช้งานสั้นกว่ายุคก่อน


            "เมื่อถ่ายรูปไว้เยอะ ก็เอาเก็บบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ จะมีกี่ร้อย กี่พันภาพ จนถึงล้านภาพ เก็บได้หมด แล้วแบบนี้จะมีอายุการใช้งานสั้นกว่ายุคก่อนได้ไงวะ" เพื่อนคนหนึ่งแย้งขึ้นมา

            ยุคก่อน ถ่ายรูปใช้ฟิล์ม ต้องอัดภาพลงกระดาษ เป็นอัลบั้มเก็บไว้ หยิบออกมา เปิดดูชื่นชมได้ทุกครั้งที่ต้องการ แต่ในยุคนี้ หลายคนมีรูปภาพมากมาย เก็บใส่คอมพิวเตอร์ไว้ ถ่ายไว้เรื่อยๆ เวลาผ่านไป หลายคนก็ชักจะลืมเหมือนกันว่า เก็บภาพไว้ที่ไหนบ้าง บางทีใช้คอมพิวเตอร์ไป เครื่องเสีย ติดไวรัส หรือมีบางคน เผลอกดลบ ทั้งโฟลเดอร์ทิ้งไป ไฟล์ภาพที่เก็บไว้ หายไปแบบไม่รู้ตัว จนกว่าจะนึกขึ้นมาได้แล้วพยายามค้นหา

            ยุคก่อน เมื่อมิตรสหายมาเยี่ยมบ้าน เราหยิบอัลบั้มรูปถ่าย เอามาให้คนคุ้นเคยได้เปิดดูเพลินๆ ได้จับกระดาษ พูดคุยถามไถ่ถึงภาพต่างๆ แม้มีเวลาจำกัด ก็ยังพลิกเปิดดูภาพได้ส่วนหนึ่ง แต่ยุคปัจจุบัน กว่าจะเปิดคอมพิวเตอร์ เปิดภาพให้ดูได้ บางทีก็ต้องหาเหมือนกันว่า ภาพที่อยากให้ดู เก็บไว้ที่ไหน


            การมีข้อมูลที่มากมาย มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องใช้เวลาหาเช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี หลายคนมักจะลืมไปแล้วว่า ไฟล์ภาพคอมพิวเตอร์อยู่ที่ไหน


            แต่ 10 ปีของคนยุคก่อนกับการหาภาพเก่าๆ ที่อัดภาพไว้ใส่อัลบั้ม ดูจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า เพราะหนังสืออัลบั้มรูปแต่ละเล่ม หน้าปกต่างกัน หยิบมาพลิกดูไม่นานก็รู้แล้วว่า อัลบั้มไหน มีรูปที่อยู่ในช่วงเหตุการณ์ไหนบ้าง




            เวลา 10 ปีกับการนึกถึงไฟล์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ กับ 10 ปีกับการนึกถึงอัลบั้มรูปในชั้นวางของ ความทรงจำแบบคนรุ่นก่อน จึงยังคงอยู่ยาวนานกว่า ไฟล์รูปภาพดิจิตอลในคอมพิวเตอร์มากนัก

Related Posts by Categories



Widget by Hoctro | Jack Book

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น